รูปแบบเตาเผาถ่านประสิทธิภาพสูงที่เหมาะสมของชุมชนรอบป่าบนฐานทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ตำบลโคกกลาง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษารูปแบบการใช้เตาเผาถ่านของชุมชนรอบป่าโคกกลางตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน 2) เพื่อพัฒนารูปแบบเตาเผาถ่านประสิทธิภาพสูงที่เหมาะสมของชุมชนรอบป่าโคกกลาง 3) เพื่อถ่ายทอดขยายผลการใช้เตาเผาถ่านประสิทธิภาพสูงที่เหมาะสมของชุมชนรอบป่า กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ ได้แก่ ผู้ที่ประกอบอาชีพเผาถ่านและมีเตาเผาถ่านรอบป่า 4 หมู่บ้าน 20 คน
ผลการวิจัยพบว่า พบว่าเตาเผาถ่านที่ชาวบ้านใช้เป็นเตาเผาถ่านแบบดั้งเดิม คือ ใช้ดินปั้นขึ้นมา ใช้วิธีการขุดดินเป็นหลุมวางไม้ฟืนในหลุมจนเต็มแล้วพอกดินขึ้นเป็นเหมือนหลังเต่า เปิดรูให้ควันออก 2 – 3 รู มีความแข็งแรงไม่มาก การเผาแต่ละครั้งใช้เวลาหลายวันขึ้นอยู่กับจำนวนไม้ฟืน และขนาดของเตา จากการลงพื้นที่สำรวจพบว่า เตาเผาถ่านโดยรอบชุมชนมีประมาณ 55 เตา มีขนาดใหญ่หรือเล็กต่างกัน ส่วนผลการพัฒนารูปแบบเตาเผาถ่านประสิทธิภาพสูงที่เหมาะสมของชุมชนรอบป่า จะออกแบบโดยใช้ถังเหล็กวางแบบแนวตั้งสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก จากการทดลองพบว่าปริมาณถ่านไม้ที่ได้จากการเผาถ่าน 11.40 กิโลกรัม มีปริมาณควันจากปากปล่องด้านบนน้อยเนื่องจากเกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์เนื่องจากมีการเจาะรูไว้ 3 ด้าน เพื่อใช้ประโยชน์ในการไล่อากาศในแต่ละด้านของถังให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ มีปริมาณขี้เถ้าและเศษถ่านที่เหลือจากการเผาถ่าน 0.91 กิโลกรัม ระยะเวลาที่ใช้ให้ความร้อนหน้าเตาเผาถ่านจนปิดเตาเผาถ่าน 120 นาที (2 ชั่วโมง) มีการหาอัตราการผลิตถ่านเป็น 5.70 กิโลกรัมต่อชั่วโมง สามารถเผาถ่านไม้ได้ 3 ครั้งต่อวัน
คำสำคัญ : เตาเผาถ่านประสิทธิภาพสูง, ฐานทรัพยากรสิ่งแวดล้อม, ชุมชนรอบป่า